จอมพล ป. พิบูลสงคราม


ย้อนอดีต..ยุคเผด็จการครองเมือง

 


พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์

 

จอมพล ป.พิบูลสงครามกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้งหลังพ้นคดี “อาชญากรสงคราม” ระหว่างที่ตนเป็นรัฐบาลในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 

การหวนคืนอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม  หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2491 ฐานะนายกรัฐมนตรีของไทยโดยมีพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์และจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ค้ำบัลลังก์เผด็จการให้อย่างสุดๆในเวลาต่อมา

 


เช้าตรู่วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ปฏิวัติ

     คณะรัฐประหารนำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ นาวาอากาศเอกหลวงสงคราม เก่งระดมยิง จอมพล ป.ที่ปรึกษา และผู้บังคับกองพันหลายนายเช่น พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์และนายปรีดี พนมยงค์กองกำลังของกลุ่มปฏิวัติ พุ่งตรงไปยังบ้านทำเนียบท่าช้าง อันเป็นบ้านพักของนายปรีดี พนมยงค์ เพื่อจับกุมตัวแต่นายปรีดีได้หนีลงเรือจ้างเข้าคลองบางหลวงไปกับจ่าบัวตำรวจอารักขาหนีออกไปได้ และในที่สุดได้ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ 

    อีกสายตรงไปบ้านหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี แต่หนีออกทันไปเพียง 5 นาที อีกสายตรงไปยังบ้านพลเรือตรีหลวงสังวร สุวรรณชีพ อธิบดีกรมตำรวจ ถูกขู่จะยิงเข้าบ้านถ้าไม่ยอมเปิดไฟในที่สุดก็ยอมจำนนมอบตัวต่อคณะรัฐประหาร 

   คณะรัฐประหารได้เชิญเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งแต่จอมพล ป. ไม่กล้ารับตำแหน่ง อาจเป็นเพราะจอมพล ป. อาจยังมีความเกรงฝ่ายสัมพันธ์มิตรที่ชนะสงครามจะตั้งข้อรังเกียจ เนื่องจากจอมพล ป.เคยประกาศสงครามกับฝ่ายพันธ์มิตรและตนเองเข้ากับฝ่ายอักษะ จนต้องกลายเป็นอาชญากรสงครามคณะรัฐประหารจึงไปเชิญนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นตำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 โดยคณะรัฐประหารกำหนดรัฐมนตรีและรัฐบาลเงา 

    จากนั้นมีรัฐธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ นาวาอากาศหลวงสงครามเป็นผู้ยกร่างและเก็บไว้ใต้ตุ่มแดงที่บ้าน จึงได้รับฉายาว่า “รัฐธรรมนูญตุ่มแดง” 

    วันที่ 20 มกราคม 2491 มีการเลือกตั้งทั่วไป และในวันที่ 21 กุมพาพันธ์ 2491 นายควง อภัยวงศ์ ได้รับกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเนื่องด้วยได้รับเสียงข้างมากกว่าพรรคใดๆ ในสนามการหาเสียงมีการใช้ทุกรูปแบบยุทธวิธี แม้กระทั่งให้คนไปตะโกนในวิกหนัง “ใส่ร้ายปรีดี” 

    แต่นายควง อยู่ในอำนาจได้เพียงเดือนเศษ วันที่ 8 เมษายน 2491 คณะรัฐประหารยื่นคำขาดให้นายควงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสีย  ก่อนลาออกนายควงกล่าวว่า “พวกคุณทำได้หรือ เมื่อบอกว่าทำได้ก็ให้เขาทำไป ผมออกมานอนชักว่ายข้างนอกเสียก็ไม่เห็นเดือดร้อนอะไรนี่ การที่เขามาจี้ผมนั้น ผมจะเอาอะไรไปต่อสู้เขาและถ้าจะสู้สู้เพื่ออะไร??....” 

    เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม คุมอำนาจเบ็ดเสร็จอีกครั้งได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการมหาดไทยและเลื่อนยศให้ พันเอกเผ่า ศรียานนท์เป็นพลตรีอย่างรวดเร็วยุคจอมพล ป. เป็นยุคที่มีการช่วงชิงอำนาจ มีการทำรัฐประหารมากมายหลายครั้ง แต่ทหารเอกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม คือ พล.ต.ต.เผ่า และ พล.ต.สฤษดิ์ ได้ออกทำการปราบปรามขบถอย่างราบคาบได้ทุกครั้ง

ขบถเสนาธิการ

1 ตุลาคม  2491 เวลา 20.00 น. เกิดขบถจากนายทหาร เรียกว่า “ขบถเสนาธิการ” มีทั้งทหารคุมกองกำลังและส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ในโรงเรียนเสนาธิการทหารที่ไม่พอใจเนื่องจากมีการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารตอบแทนผู้เข้าร่วมรัฐประหาร มิได้ทำเพื่อทหารส่วนรวมแม้แต่น้อยหลายครั้งฝ่ายกบฏมี

พล.ต.เนตร เมขะโยธิน
พลตรีพล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต
พล.ต.หลวงวรรณกรรมโกวิท
พล.ท. โพยม จุฬานนท์ ซึ่งเป็น ส.ส. เพชรบุรี
พ.อ.ขุน ศรีสิงหสงคราม เจ้ากรมพาหนะทหารบก
ร.อ.หิรัญ สมัครเสวี,ร.อ. สุรพันธ์ ชีวรานนท์,ร.ท. บุญช่วย ศรีทองบุญเกิด
นายทหารและนักเรียนเสนาธิการอีกจำนวนหนึ่ง เข้าร่วมก่อการด้วย

    มีการวางแผนถึงขั้นสังหารกลุ่มผู้นำทหารและนายกรัฐมนตรีแบบถอนรากถอนโคนในทำเนียบรัฐบาล โดยในวันนั้นมีงานเลี้ยงส่งนายทหารและแสดงความยินดีในงานพิธีสมรสระหว่าง พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับนางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ความ ลับไม่มีในโลก กบฏครั้งนี้ถูกรัฐบาลจอมพล ป. ซ้อนแผนปราบปรามอย่างราบคาบ ทหารเอกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้ง พล.ต.ต.เผ่า และ พล.ต.สฤษดิ์  ธนะรัชต์ได้ออกทำการปราบปรามขบถอย่างราบคาบได้และในครั้งต่อๆมาอีก

โดย เผ่า ศรียานนท์ อิงฐานกรมตำรวจตั้ง “รัฐตำรวจ”  สร้างอัศวินตั้งแต่แหวเพชรถึงแหวนทอง ปูนบำเหน็จรางวัลแก่นายตำรวจที่จงรักภักดีตนเป็นยุคอำนาจมืดครองงำไทยมีการปราบปรามนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ถูกคุมขัง ถูกลักพาตัว ถูกฆ่าโดยไม่มีขบวนการยุติธรรมไต่สวนอย่างเป็นธรรม ผู้ปกครองไม่กี่คนตั้งตนเป็นตุลาการตัดสินความด้วยอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ 

 ตั้งข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน

ต้นเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกันรัฐบาลจอมพล ป.ได้จับกุมพลเรือนนักการเมืองสายเสรีไทย

มีนายทิม ภูริพัฒน์
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์
นายถวิล อดุล
นายฟอง สิทธิธรรม
นายเตียง ศิริขันธ์
ในข้อหา
“กบฏแบ่งแยกดินแดน”

ในขณะจับกุมตัวทางจอมพล ป. ได้ปราศรัยทางวิทยุปลุกระดมหาความชอบธรรมในการจับกุมพลเรือนและนักการเมืองในครั้งนี้ว่า ขณะนี้มีผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองสมคิดกันเพื่อกบฏ ทางสภาผู้แทนราษฎรให้ พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ ปล่อยตัวนายฟอง สิทธิธรรม เพราะอยู่ในสมัยประชุม ได้รับเอกสิทธิ์ทางกฎหมายและต่อมาได้ปล่อยตัวนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เพราะไม่มีหลักฐานอะไร 

กบฏวังหลวง

     วันที่ 23 กุมพาพันธ์ 2492 ได้มีนายทหารได้นำรถถังออกมา 6 คัน พร้อมอาวุธครบมือมาทำเนียบรัฐบาล แต่ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทราบการเคลื่อนไหวนี้เสียก่อน พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ไม่รอช้า ออกทำการกวาดล้างทันที  สืบลึกเข้าไปกลายเป็นว่าเป็นกบฏใหญ่นายทหารและพลเรือนร่วมวางแผนยึดอำนาจ ข่าวลึกๆเชื่อว่ามีเสรีไทยและนายปรีดี พนมยงค์อยู่เบื้องหลัง

     กองกำลังในการปราบกบฏครั้งนี้มีคำสั่งให้ พ.ท.กฤช ปุณณกันต์ ผบ.กรมราบ และ พ.ท.ถนอม กิตติขจร ผบ.ราบ 11 นำรถถังออกปราบด้วย มีการรบพุ่งทั้งสองฝ่ายจนถึงเช้าวันที่ 09.00 น.ของวันที่ 27 กุมพาพันธ์ 2492 มีการเจรจาหยุดยิงกันได้เมื่อตอนเวลา 10.15 น. ต่างฝ่ายต่างเคลื่อนกำลังกลับเข้าสู่ที่ตั้งของตนได้มีการบุกค้นบ้านผู้ต้องสงสัย และมีการสังหารโหดอย่างเช่นกับราย พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข เคยร่วมงานกับนายปรีดีพนมยงค์ได้ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นพวกกบฏ โดยเช้าตรู่วันที่ 29 กุมพาพันธ์ 2492 กองกำลังฝ่ายจอมพล ป.เข้าตรวจค้นภายในบ้าน พลันเกิดเสียงปืนดังหลายนัด ผู้เข้าจับกุมให้การว่า พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ขัดขืนและทอดร่างกลายเป็นศพ เหมือนหลายๆคดีที่ตำรวจมักกล่าวว่า ผู้ต้องหาต่อสู้เจ้าหน้าที่พนักงาน สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป 

 เพียงแค่สงสัยใครเป็นพวกนายปรีดี บุคคลนั้นก็ชะตาขาดเสียแล้ว

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีจุดมุ่งหมายแน่วแน่ที่จะโค่นอำนาจนายปรีดี พนมยงค์และกลุ่มเสรีไทยแบบถอนรากถอนโคน เพียงแค่สงสัยใครเป็นพวกนายปรีดี บุคคลนั้นก็ชะตาขาดเสียแล้วพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ปรามปรามประชาชนและนักการเมืองรวมถึงทหารที่เอาใจออกห่างคนแล้วคนเล่าข้าราชการชั้นเอก นายตำรวจและนายทหารระดับพันเอกหลายคนถูกพวกอัศวินดำของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์สังหารโดยไม่มีความผิด

บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสียงไทย ถูกลอบยิงทำร้ายผู้นำกรรมกรถูกจับ สมาคมกรรมกรถูกค้นโรงเรียนจีนและ นสพ.จีนถูกค้นหลายระลอก ครูโรงเรียนจีนและนักหนังสือพิมพ์จีนถูกจับและถูกเนรเทศเป็นจำนวนมาก  รวมถึงการพัวพันสังหารโหด หะหยีสุหรง นักการเมืองไทยมุสลิมผู้กล้าหาญแห่งภาคใต้ และนายพร มะสิทอง ส.ส.สมุทรสาคร

 คืนสังหารโหด 4 อดีตรัฐมนตรี

มีการจับกุมตัวนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อดุล ถูกคุมตัวมาไว้ที่สันติบาลวันที่ 28 กุมพาพันธ์ 2492
และนายจำลอง ดาวเรือง ก็โดนจับกุมมีการค้นบ้าน ดร.เปลว ชลภูมิรัฐบาลพบโทรเลข ทราบข่าว ดร.เปลว ชลภูมิจะกลับไทยหลังจากหนีลี้ภัยไปปีนัง เมื่อครั้งเกิดการรัฐประหารปี 2490 จึงมีการไปดักจับ ดร.เปลว ชลภูมิถึงลานจอดเครื่องบิน ในคืนวันที่ 4 มีนาคม 2492 ตำรวจสันติบาลนำดร.เปลวออกจากสนามบินทันทีที่เครื่องบินลงไปกองบัญชาการสวนกุหลาบ

คนทั้ง 4 ที่ถูกจับกุมเคยเป็นรัฐมนตรีในสมัยก่อนๆ ทราบกันว่าเป็นสายเสรีไทยสนิทกับนายปรีดี พนมยงค์ตายอย่างมีเงื่อนงำ

วันที่ 4 มีนาคม 2592 รถตำรวจ 3 คัน เบิกผู้ต้องหาทั้ง 4 ไปสอบสวนระหว่างรถถึงหลักกิโลเมตรที่ 14-15 เสียงปืนดังแผดคำรามขึ้นหลายนัด แล้วผู้ต้องหาการเมืองทั้ง 4 ก็ดับดิ้นตรงนั้น ทุกศพมีรอยกระสุนคนละหลายนัดบอกกันว่าโจรมาลายูเข้าชิงตัวผู้ต้องหา? แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจลูกน้องเผ่าปลอดภัยทุกคน?

 สังหารครูเตียง ศิริขันธ์

นายเตียง ศิริขันธ์เป็นบุคคลที่เฉลียวฉลาด มีความห่วงใยในการศึกษาของชาวบ้านท่านจึงได้ตั้งโรงเรียนขึ้นมา 2 แห่งชื่อว่าโรงเรียนมัธยมเตียง ศิริขันธ์ 1 และโรงเรียนมัธยมเตียง ศิริขันธ์ 2 เมื่อปีพ.ศ. 2478 นายเตียงและเพื่อนครูอีก 2 คนในโรงเรียนประจำจังหวัดอุดรธานี นายคือปั่น แก้วมาตรและนายญวง เอี่อมศิลาโดน “ข้อหามีการกระทำเป็นคอมมูนิสต์”  ต่อมาในปีเดียวกัน การเตียงกับนายปั่นถูกปล่อยตัว ส่วนนายญวงถูกตัดสินจำคุกพร้อมเพื่อนอีกจำนวนหนึ่ง

นายเตียงได้เดินทางไปเรียนต่อที่ระดับครู ป.ม.ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและไปเป็นครูสอนที่โรงเรียนหอวังระยะหนึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ครูเตียงได้กลับไปสมัคร ส.ส.ที่จังหวัดสกลนคร ครูครอง จันดาวงศ์ ช่วยวิ่งเต้นหาเสียงให้ด้วยจนชนะคะแนนหลวงวรนิติปรีชา ส.ส.แต่งตั้งคนเดิม 

ในปี 2497 นายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส. สกลนคร หัวหน้าเสรีไทยภาคอีสานพร้อมพร้อมคนขับรถถูกจับไปสังหารโหดที่กลางป่าจังหวัดกาญจนบุรี ปฏิบัติการป่าเถื่อนไร้ทำนองคลองธรรมของผู้กุมอำนาจรัฐสร้างแรงบีบคั้นให้กับผู้รักความเป็นธรรมคนแล้วคนเล่าก็กลายเป็นเหยื่อความทารุณโหดร้ายต่อไป!

 กบฏแมนฮัตตัน (จับจอมพล ป.บนเรือแมนฮัตตัน) 

ทหารบางส่วนของกองทัพเรือไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลจอมพล ป. มากนัก ยังมีนายทหารเรือคบคิดกบฏจะยึดอำนาจจอมพล ป.อีกหลายครั้งหลายคราวแต่มักมีเหตุไม่พร้อมสอดแทรกอยู่เสมอ เช่น วันที่ 22 ตุลาคม 2493 คิดคุมตัวจอมพล ป. ในพิธีส่งทหารไปเกาหลี

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2543วางแผนจับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ในสนามกีฬาแห่ชาติขณะมีการแข่งขันรักบี้ ระหว่างทีมกองทัพบกกับทีมกองทัพเรือกระทั่งต้นปี 2494 คิดทำการอีกในกระทรวงกลาโหมจะทำการแจกเข็มเสนาธิปัตย์ มีจอมพลป.เป็นประธานทหารบางส่วนที่ตกลงกันไว้ไม่กล้าเคลื่อนออกมาความพยายามไม่สิ้น

กลุ่มทหารเรือหนุ่มกำหนดวันที่ 26 มิถุนายน 2494 ก่อการอีกครั้ง จะบุกควบคุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ทำเนียบและจู่โจมยึดวังปารุสกวัน ครั้งถึงกำหนดนาวิกโยธิน 2 หน่วยไม่สามารถเคลื่อนพลได้ทั้งๆที่หน่วยอื่นพากันขนอาวุธยุทธภัณท์ออกจากกรมกองแล้ว ความผิดพลาดครั้งนี้ทำให้ ขบวนการต่างๆเฉพาะอย่างยิ่งจากกองทัพบก ขอถอนตัว กระนั้นก็ยังมีส่วนอดทนยึดมั่นอุดมการณ์จะทำงานปฏิวัติก็ยังมีอยู่ 

 ถึงคราวลงมือกันเสียที

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 จอมพล ป.จะทำพิธีรับเรือมอบเรือขุดแมนฮัดตัน จากอเมริกามอบให้ที่ท่าเรือราชวรดิษฐ์ท่ามกลางทูตประเทศต่างๆมากมาย เมื่อรับเสร็จจอมพล ป.ขึ้นไปชมเรือ

น.ต.มนัส จารุภา พร้อมหน่วยรบจำนวนหนึ่งนำปืนกลแมดเสน กรูขึ้นสะพานเรือพร้อมยิงหากมีคนขัดขืน จอมพล ป.เดินมาจากหัวเรือพร้อมผู้ติดตาม ถึงจุดที่ น.ต.ยืนรออยู่ “เราต้องการแต่ตัวท่านจอมพล คนอื่นไม่เกี่ยวถอยออกไป ขอเชิญจอมพลมาทางนี้”  นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “จะให้ไปทางไหน”

มีการควบคุมนายกรัฐมนตรีไปขึ้นเรือรบหลวงอยุธยาแล้วเล่นไปตามลำน้ำถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เพื่อมุ่งหน้าสู่สะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อไปจอดหน้าสรรพวุธทหารเรือ บางนา แต่สะพานพุทธฯไม่เปิด นาวิกโยธินที่ 4 และ 5 ไม่สามารถเคลื่อนพลออกมาได้ ทหารเรือส่วนหนึ่งยึดโรงไฟฟ้าและโทรศัพท์กลางวัดเลียบได้แล้วแต่ถูกรถถังตำรวจล้อมปิดไว้ 

ฝ่ายรัฐบาลได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของผู้ก่อการ เรียกร้องให้มอบตัวและส่งจอมพล ป.คืนอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยยื่นคำขาดให้จำนนในตอนรุ่งเช้า มิฉะนั้นจะใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง

06.00 น. รุ่งอรุณของวันที่ 30 มิถุนายน 2454 อาวุธหนักของรัฐบาลโจมตีทหารเรือ กระสุนเบาถล่มเรือรบหลวงศรีอยุธยาเป็นระยะๆ  ส่วนบนบกทหารฝ่ายรัฐบาลอยู่ฝั่งพระนครทหารฝ่ายก่อการอยู่ฝั่งธนต่างสาดกระสุนใส่กัน เสียหายทั้งสองฝ่าย

เวลา 15.00 น. ไม่มีทหารกองอื่นๆรวมถึงแม่ทัพเรือเข้าร่วมกับฝ่ายก่อการดังที่ฝ่ายก่อการคาดหวังไว้ ฝ่ายกบฏหมดทางสู้ทุกประตู

จอมพลฟื้น ฤทธาคนี ผู้บัญชาการทหารอากาศสั่งเครื่องบินทิ้งระเบิดเรืออยุธยา เพลิงไหม้ลามถึงคลังลูกปืน เรือค่อยๆจมลง ปืนเล็กยาวระดมยิงใส่พวกลอยคอที่ว่ายพ้นหัวเรือ ทหารฝ่ายก่อการที่อยู่ฝั่งธนบุรีสามารถสกัดยับยั้งการยิงได้ แต่ไม่อาจหยุดยั้งการยิงกราดจากเครื่องบินได้ เมื่อบรรดาคนที่ว่ายน้ำเคลื่อนเข้ามาใกล้ฝั่ง จึงเห็นว่ามีจอมพล ป.ก็รวมอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย รัฐบาลปราบปรามฝ่ายกบฏอย่างราบคาบ ฝ่ายทหารเรือจึงหมดอำนาจทางการเมืองตั้งแต่นั้นมา 

 ยุคทมิฬ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ นักอุ้มฆ่า

ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ พล.ต.อ.เผ่า สร้างรัฐตำรวจขึ้น ก่อตั้งตำรวจรถถังและยานเกราะ ตำรวจกองปราบ,ตำรวจพลร่มและอื่นๆ 

พล.ต.อ.เผ่า มีความสนิทกับจอมพล ป.เป็นพิเศษ  เคยเป็นทหารยศพันเอกแต่ถูกโอนมาคุมตำรวจ ไต่ตำแหน่งอย่างรวดเร็ว ได้ทำการกวาดล้างเสี้ยนศัตรูทางการเมืองของจอมพล ป.อย่างรุนแรงและเฉียบพลัน ตำรวจยุคนี้ได้มีส่วนในการเข่นฆ่า ขังลืม ขังห้องมืดนักโทษการเมืองรวมถึงสังหารโหด 4 รัฐมนตรีกลางถนนที่บางเขน นักการเมืองจำนวนมากต้องลี้ภัยหนีตายและหลบไปกบดานอยู่ในชนบท

เช้าวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 รัฐบาลเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบทางวิทยุกระจายเสียง รัฐบาลได้ดำเนินการกวาดล้างจับกุมนัดคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก ในข้อหากบฏ อาทิเช่น


นายอารีย์ ลีวีระ ผู้อำนวยการบริษัทไทยาณิชย์จำกัด
นายแสวง ตุงคบรรหาร บก.หนังสือพิมพ์สยามนิกร
นายบุศย์ สิมะเสถียร หนังสือพิมพ์ไทย
นายอารี อิ่มสมบัติ บ.กฺ. ธรรมจักรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ
นายเปลื้อง วรรณศรี
นายฉัตร บุณยศิริ
นายนเรศ นโรปกรณ์
นายมารุต บุนนาค และอีกมากมายรวม 104 คน เรียกว่า
“กบฎ 10 พ.ย. 2495” 

 มีการวางแผนฆ่านักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่คือ

ในคืนวันที่ 6 กุมพาพันธ์ 2496 ศาลได้สั่งปล่อยนายอารี ลีวีระ ผู้อำนวยการบริษัทไทยพาณิชย์การ จำกัดซึ่งมี หนังสือพิมพ์สยามนิกรและพิมพ์ไทย อยู่ในสังกัด ครั้นถึงวันที่ 23 กุมพาพันธ์ ปีเดียวกัน นายอารีย์ได้เข้าสู่พิธีสมรสกับนางสาวกานดา บุญรัตน์ และเดินทางไปหัวหินเพื่อดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ระหว่างการไปพักที่หัวหิน ได้เกิดเรื่องสลดสะเทือนใจคนวงการหนังสือพิมพ์ เนื่องจาก

เช้าวันที่ 9 มีนาคม 2496 เวลา 08.50 น. มีรถจี๊ปสีเขียวเข้าไปในเรือนพักของหนุ่มสาวคู่นี้ แล้วมีเสียงปืนดังขึ้น 2-3 นัดแล้วรถดังกล่าวออกไปเมื่อตำรวจหัวหินวิทยุสกัดรถคันนี้ได้ พบมีตำรวจยศสิบโท และพลตำรวจอีก 4 นาย เป็นตำรวจกองกำกับการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ให้การว่า พ.ต.ท.ศิริชัย กระจ่างวงศ์ ให้มาดักจับคนร้าย ซึ่งนายตำรวจดังกล่าวเป็นนายตำรวจอัศวินแหวนเพชรของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ นั่นเอง 

 การเลือกตั้งที่มีการโกงครั้งมโหฬาร

อย่างไรก็ตามจอมพล ป.พิบูลสงคราม มักแสดงให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลของเขามีประชาธิปไตย เห็นความสำคัญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังนั้นในปี 2500 มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมพาพันธ์ 2500 ปรากฏว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม มีการใช้อุบายต่างๆ การทุจริตครั้งนี้มีการกระทำกันอย่างเอิกเกริก มีทั้งพลร่มไพ่ไฟและการเวียนเทียนลงบัตร มีการส่งโค๊ดเลือกผู้แทนของตน มีการปักตราพรรคเสรีมนังคศิลา (พรรครัฐบาลจอมพล ป.) มีรูปหัวไก่สีแดงเป็นเครื่องหมายที่กระเป๋ามองเห็นชัด เมื่อกรรมการเห็นก็ให้บัตรลงคะแนนทันทีโดยไม่ต้องตรวจสอบรายชื่อ การทุจริตการเลือกตั้งปั่นป่วนไปทั่ว ทุลักทุเลอึมครึม มีการใช้อำนาจรัฐเต็มที่ 

ประชาชนและนักศึกษาที่รักประชาธิปไตยพยายามต่อสู้แต่ก็มีอันพาลทางการเมืองเข้ารุมซ้อ ให้ประชาชนบาดเจ็บมากมาย สื่อมวลชนกล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งสกปรกที่สุดในประเทศไท ผลการเลือกตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาได้ 86 เสียงจาก 160 เสียง ขณะเตรียมจัดตั้งรัฐบาล ประชาชนนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวและออกใบปลิวโจมตี จอมพล ป.กับ พล.ต.อ.เผ่า ให้รับผิดชอบลาออก 

 ประชาชนเดินขบวนไล่รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม  

ประชาชนเริ่มเดินขบวนจนในที่สุด จอมพล ป.ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 2 มีนาคม 2500ห้ามชุมนุมในที่สาธารณะและห้ามพิมพ์โฆษณาเกี่ยวกับการเมือง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำหนังสือเรียกร้องให้ผู้แทนฯลาออกจากตำแหน่งนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประท้วงด้วยการลดธงลงครึ่งเสานักศึกษาทั้ง 2 แห่งกับประชาชนต่างลุกฮือบุกเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล 

 สองเสือองค์รักษ์พิทักษ์จอมพล ป.ขัดแย้งกันหนัก

เสือสฤษดิ์ กับเสือ เผ่า แสดงการขัดแย้งกันอย่างหนัก อำนาจและกลไกของจอพล ป. เริ่มพิกลพิการภายในพรรคเริ่มแตกแยกยากที่จะประสานผลประโยชน์กันต่อไปได้อีก จอมพล ป.สั่งยกเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร ซึ่งเป็นตำแหน่งของ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์

วันที่ 20 สิงหาคม 2500 เป็นวันจุดแตกหักเมื่อ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมี พล.ท.ถนอม กิตติขจร รมช.กลาโหม พล.ท.ประภาส จารุเสถียร รมช.มหาดไทย พล.อ.ท.เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูล รมช.เกษตร พล.ต.ศิริ สิริโยธิน รมช.สหกรณ์ ลาออกตามไปด้วย 

วันที่ 13 กันยายน 2500 เหลือแต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์สั่งขุนพลเตรียมพร้อม ส่วน พล.ต,อ. เผ่า ศรียานนท์ ก็ระดมกำลังพร้อมเช่นกันต่างคุมเชิงคุมกองกำลังกันอยู่ 

 พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการจอมพล ป.พิบูลสงครามและ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เพื่อนคู่รักคู่แค้น

วันที่ 14-15 กันยายน 2500  คณะนายทหารกองทัพบกทำหนังสือบังคับให้รัฐบาลจอมพล ป.ลาออกแต่จอมพล ป.หน่วงเหนี่ยวเวลา วันที่ 16 กันยายน 2500  เวลา 20.00 น.พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งรถถังเคลื่อนเข้ายึดที่ทำการสำคัญของรัฐบาลทันที รัฐประหารครั้งนี้ไร้การต่อต้าน จอมพล ป. หนีออกไปทางจังหวัดตราด นายทหารและตำรวจฝ่ายรัฐบาลเข้ารายงานตัวต่อคณะปฏิวัติ ในนี้มี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ด้วย ตอนหนึ่ง เสือสฤษดิ์ถามเสือเผ่า ว่า “ก่อนหน้าจะยึดอำนาจ 2 วัน มึงไปถอนเงินจากกระทรวงการคลังไป 11 ล้านจริงหรือไม่?” พล.ต.อ.เผ่าตอบฉะฉาน “เออ...จริงว่ะ แต่ใช้ไปหมดแล้ว”

พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ ส่วน จอมพล ป.หนีทันเข้า จ.ตราด เพื่อเข้าสู่เขมรต่อไป 9 ปีที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้อำนาจมาด้วยปืนรถถังและเขาจากอำนาจไปด้วยปืนและรถถังแบบเดียวกัน

นักศึกษาประชานชาวไทยต่างดีใจที่จอมเผด็จการคนเก่าจากไปแต่หารู้ไม่ว่าเผด็จการตัวใหม่กำลังย่างก้าวทะมึนเข้าแทนที่.....โหดเหี้ยมไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย......เขาคือ จอมเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์

 


จอมเผด็จการ สฤษดิ์ ธนรัชต์
 

ประมวลจาก
หนังสือเผด็จการครองเมือง
หนังสือชุดประวัติศาสตร์ประชาชน ครูครอง จันดาวงศ์ ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้
หนังสือเบื้องหลังการปฏิวัติ 2475
หนังสือเล่าความจริงขบวนการนักศึกษายุคต้น 2514-2519